2551-07-31

เปลี่ยนตัวเอง... ทำงานง่าย สบายขึ้น



ชื่อว่าทุกวันนี้หนุ่มสาววัยทำงานหลายคน ต้องทำงานกันหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนกับว่า วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง ก็ยังไม่ค่อยพอ แถมเหนื่อยก็เหนื่อย บางคนกลายเป็นมนุษย์บ้างาน ไม่มีเวลาให้ตัวเองเลย ยิ่งครอบครัวไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น เรามาร่วมเรียนรู้เทคนิคที่จะช่วยให้เราขี้เกียจกันได้! แต่ยังได้ผลงานที่เหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิมกันดีกว่า!!! กับเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยเติมพลังให้กับการทำงานในแต่ละวัน อันนี้ไม่ได้โม้นะ เพราะคุณอภิชาติ สิริผาติ ผู้เขียนพ็อกเกตบุ๊ก เรื่อง "เงินเดือนนิดเดียว ต้องเหนื่อยให้น้อยที่สุด" แนะนำวิธีเปลี่ยนตัวเองอย่างง่ายได้ไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้ค่ะ
ทบทวนตัวเอง วันละ 10 นาที
หลังเลิกงานทุกวัน หาเวลาสัก 10 นาที ลองทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง ตั้งแต่เช้าถึงเย็นแล้ว วิเคราะห์ดูว่า มีงานหรือวิธีการทำงานใดที่ทำไปในวันนี้ แล้วมีวิธีทำให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เหนื่อยน้อยลงหรือเปล่า? แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูค่ะ
ทบทวนตัวเอง สัปดาห์ละ 30 นาที
ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ลองทบทวนดูว่า เวลาของตัวเองที่เกี่ยวกับการทำงานหมดไปกับเรื่องอะไรบ้าง การประชุม โทรศัพท์ งานเอกสาร การอิจฉาคิดร้ายคนอื่น หรืออื่นๆ และดูว่าสิ่งนั้นทำให้เกิดผลผลิตหรือเปล่า ทำอย่างไรให้เหนื่อยน้อยลง แต่ได้งานเหมือนเดิมหรือมากขึ้น กิจกรรมใดควรตัดออกไปบ้าง
เลิกเคยชินซะบ้าง
อย่าชินกับสิ่งที่ทำกันอยู่ทุกวัน มองหาวิธีที่ง่ายกว่า ประหยัดกว่า หรือเหนื่อยน้อยกว่า เพราะพวกเรามักใช้ชีวิตกันตามความเคยชินเป็นหลัก จนหลายสิ่งที่เราทำกลายเป็นสัญชาตญาณ และไม่เคยนึกหรือถามตัวเองว่ามีวิธีที่ดีหรือเหนื่อยน้อยกว่านั้นหรือไม่ เช่น หลายคนยังชินกับการรับส่งเอกสารทางแฟกซ์ ซึ่งสามารถทดแทนได้โดยใช้อีเมล
ทำตัวให้มีเสน่ห์
ความมีเสน่ห์จะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น แล้วก็เหนื่อยน้อยลงด้วย คนที่มีเสน่ห์มักมีคนให้ความร่วมมือในการทำงานมากขึ้น ถ้าใครคิดว่าตัวเองยังไม่มีเสน่ห์ล่ะก้อ ลองหัดดูค่ะ เติมเสน่ห์ให้ตัวเองสักนิด อาจเริ่มต้นง่ายๆ เช่น พูดจาดี ยิ้มเก่ง รู้จักชมผู้อื่น (มีกฎว่าวันหนึ่งคุณควรชม (อย่างจริงใจนะ) เพื่อนร่วมงานอย่างน้อยสัก 3 คน) เป็นต้น
ไม่เห็นด้วย ต้องพูดดังๆ
หลายคนเหนื่อยฟรี! เพราะต้องทำงาน 2-3 รอบ โดยเฉพาะเมื่อทำงานกับคนที่มีตำแหน่งใหญ่กว่า เนื่องจากการไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่างานนั้นควรทำอย่างไร ฉะนั้น หากไม่เห็นด้วย มีความเห็นอย่างไรควรพูดออกไป ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้คนอื่นมองเห็นหลายๆ ด้าน ถึงแม้จะเปลี่ยนคำสั่งไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราจะได้แสดงความสามารถของเรา และไม่โดนตำหนิภายหลังว่า รู้แล้วทำไมไม่พูด
ลำดับความสำคัญ
การรู้ว่าควรต้องทำงานไหนก่อน งานไหนทำทีหลัง ทำให้เหนื่อยน้อยลงได้มาก เพราะการไม่ทำงานสำคัญก่อนและต้องมาเร่งทำแข่งกับเวลาจะเป็นสิ่งที่สร้างความเครียด ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กลัวเสร็จไม่ทัน และอาจต้องอยู่ทำงานดึกได้
ทำอะไร ทำให้เสร็จ
การทำงานอย่างละนิดละหน่อย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง ลืมบางสิ่งบางอย่างและอาจรู้สึกเบื่อได้ เพราะจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรเสร็จสักอย่าง และมักทำให้ต้องเหนื่อยมากกว่าเดิม งานไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น หากเริ่มงานสิ่งใดพยายามทำให้เสร็จไปเป็นอย่างๆ
ตั้งเป้าประจำวัน และทำให้เสร็จ
พยายามตั้งเป้าให้ตัวเองทุกวันว่า วันนี้เรามีงานอะไรจะทำให้เสร็จบ้าง โดยจดเป็นเช็กลิสต์ไว้และอาจผสมงานยากงานง่าย งานที่สามารถทำให้เสร็จได้ในวันเดียวไว้ด้วยกัน และมุ่งมั่นทำให้ได้ตามนั้น การที่สามารถทำอะไรให้เสร็จได้ทุกวัน จะทำให้รู้สึกมีความคืบหน้าทุกวันและความเหนื่อยน้อยลง
ไม่พูดแบบนักการเมือง ความหมายนี้ก็คือ พยายามฝึกพูดให้สั้น ตรงประเด็น เข้าใจง่าย มีการสรุปสาระสำคัญความต้องการ โดยสามารถสื่อให้คนฟังเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าต้องทำอะไร เราคาดหวังอะไร ต้องรู้จักสรุปความคิดของตัวเองให้ชัดเจน ตกผลึกก่อนที่จะถ่ายทอดให้คนอื่น เพราะถ้าตัวเองยังไม่ชัดเจน ย่อมถ่ายทอดความไม่ชัดเจนออกไปด้วยเช่นกัน
ลองใส่ "วันใหม่ๆ" ลงไปในปฏิทินของคุณ
ข้อสุดท้ายของการลอง "ปรับ-เปลี่ยนแปลงตัวเอง" อภิชาติ แนะนำให้ใช้วิธีเขียนวันใหม่ๆ โดยใช้ปากกาเน้นแถบสีสดๆ ใส่ลงไปในปฏิทิน เช่น "วันเก็บโต๊ะทำงาน" วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ "วันเคลียร์ไฟล์ในคอมพิวเตอร์" สำหรับวันอังคารและวันพุธ "วันทบทวนระบบทำงาน" ในวันจันทร์และวันอังคารของสัปดาห์ต่อไป ส่วนวันศุกร์กันไว้ให้เป็น "วันเคลียร์เอกสารที่ไม่ใช้" สัปดาห์ต่อไปอาจไม่มีวันใหม่ๆ แต่ก็อย่าลืม!!! "วันทบทวนตัวเอง" ไว้สักวันในอาทิตย์ก่อนที่เดือนนี้จะสิ้นสุดลง
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...